thailandไทย

ยอมรับว่าในบรรดาเครื่องดนตรีทั้งหลาย ไวโอลินคือเครื่องดนตรีที่เล่นยากที่สุด ด้วยเหตุว่ามันไม่มีปุ่มกดหรือร่องรูให้หมายได้ว่า กดลงตรงนั้นแล้วจะให้เสียงสูงต่ำแค่ไหนออกมา ผู้เล่นต้องฝึกฝนจนรู้เหมือนเป็นสัญชาตญาณว่าต้องกดตรงไหนอย่างไร  คือกดลงไปเฉยๆ หรือกดแล้วเขย่าสั่นนิ้วที่กดด้วย หรือชักคันชักให้นิ่มนวล หรือกระแทกรุนแรงแค่ไหนอย่างไร ล้วนให้เสียงที่แตกต่างออกมา เราจึงคุ้นตากับภาพศิลปินไวโอลินที่ยืนเล่นด้วยท่าทางสำรวมสมาธิแน่วแน่ไม่มีเสียหลอกที่จะหันไปยักคิ้วหลิ่วตากับคนดู เพราะพลาดพลั้งสมาธิหลุดไปนิ้วที่ต้องกดกำหนดเสียงอาจคลาดเคลื่อน ซึ่งแม้เพียงเล็กน้อยความคลาดเคลื่อนนั้นนำความหายนะมาสู่แบบกู่ไม่กลับ

วันนี้มีนักไวโอลินคนหนึ่งที่แหวกกฎไปอย่างหน้าทึ่งเหลือเชื่อ เธอเล่นไวโอลินไปพร้อมๆ กับลีลาการเคลื่อนไหวที่แทบบอกไม่ได้ว่า  อะไรคือเป้าหมายหลักในการแสดงของเธอ ลีลาการเต้นหรือฝีมือไวโอลิน และลีลาการเต้นของเธอก็หาใช่เป็นแค่การหันซ้ายหันขวาสบตาส่งยิ้มให้ผู้ชมอย่างที่ศิลปินนักร้องเขาทำกัน แต่เธอกระโดดโลดเต้นทะยานไปบนอากาศ แหงนหน้า หงายท้อง มันเคลื่อนไหวใส่ความมีชีวิตชีวาลงไปตั้งแต่หัวจรดเท้า เป็นลีลาร่วมสมัยที่แม้คนมือเปล่าก็ยากที่จะเต้นได้ถึงความเร้าระทึกเช่นนั้น มันคือลีลาฮิปฮอปซึ่งไม่น่าจะไปกันได้กับลีลาการสีไวโอลิน แต่เธอผู้นี้ทำได้ ชื่อของเธอ ลินด์ซีย์ สเตอริง (Lindsey Stirling) ป้องปากให้ได้ยินกันในหมู่ผู้ชื่นชมว่า เธอยิ่งใหญ่พอที่จะถูกเรียกว่า “ไมเคิล แจ็คสัน แห่งวงการไวโอลิน”

ลินด์ซีย์ สเตอริง เกิดเมื่อ 21 กันยายน 1986 ที่เมืองแซนตา เอนา (Santa Ana) แคลิฟอร์เนีย  แต่ได้ไปใช้ชีวิตวัยเด็กที่เมืองกิลเบอร์ต รัฐอริโซนา จนเรียนจบระดับมัธยมที่นั้น ช่วงวัยเรียนมหาวิทยาลัยย้ายไปอยู่ที่เมืองโปรโว รัฐยูทาห์ (Provo Utah) เรียนจบปริญญาตรีสาขาวิชานันทนาการบำบัด (Therapeutic Recreation) ที่มหาวิทยาลัยบริกแฮม ยัง

ลินด์ซีย์ (ขอเรียกเพียงชื่อต้นเพื่อได้ความสั้นกะทัดรัด) คลั่งไคล้ลีลาการเต้นมาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อวัย 5 ขวบ เกิดไปหลงใหลเสียงไวโอลินจากเพลงคลาสสิกที่ได้ยินจากแผ่นที่พ่อเปิดฟัง เธอร่ำร้องขอเรียนไวโอลิน ซึ่งพ่อแม่ก็บอกเธอว่าต้องเลือกเอาแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง  จะเต้นหรือจะเอาดีทางไวโอลิน ข้อจำกัดทางด้านการเงินให้เธอได้อย่างเดียว และให้ได้อาจไม่เต็มที่นัก ในที่สุดเธอยอมเรียนไวโอลินที่มีข้อจำกัดว่า พ่อแม่มีเงินจ่ายค่าจ้างครูได้ไม่เต็มหลักสูตร (ความจริงน่าจะไม่ถึงครึ่งหลักสูตร) ในหนึ่งสัปดาห์เธอได้เรียนไวโอลินอย่างฉาบฉวยแค่ 15 นาที ยืนยันว่าตัวเลขนี้ถูกต้อง 15 นาทีไม่ใช่ 15 ชั่วโมง เธอได้เรียนไวโอลินอย่างจริงจังก็เมื่อเธออายุได้ 12 ขวบ

ปี 2010 เธอได้เข้าไปแข่งขันในรายการอเมริกาก็อต ทาเลนต์ ฤดูกาลที่ 5 (America Got Talent, Season 5)  ลีลาการโลดโผนตามสไตล์ฮิปฮอปร่วมกับการบรรเลงไวโอลินไปด้วยเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครเห็นก่อน มันสร้างความประทับใจให้กรรมการมากพอที่ทำให้เธอผ่านไปถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ (Quarter Final) ในรอบนั้นที่เธอมั่นใจว่า ได้ยกระดับการเต้นขึ้นไปอีก กลายเป็นว่ากรรมการมองด้วยมุมมองที่แตกต่าง ปิแอร์ มอร์แกน ใช้สิทธิกรรมการกดให้สัญญาณหยุดแค่เธอแสดงไปยังไม่ถึงครึ่งทางเขาให้เหตุผลว่า “ไม่ใช่เพราะเห็นว่าคุณไม่เก่ง แต่มันยังไม่ดีพอ การเต้นอย่างโลดโผนทะยานไปบนอากาศพร้อมกับสีไวโอลินไปด้วย มันไม่น่าจะไปกันได้” ส่วน แชร็อน ออสบัวร์ กรรมการหญิงอีกคนวิพากษ์ว่า “เธอควรอยู่ในคณะที่มีนักร้อง นักดนตรี ประกอบด้วย สิ่งที่เธอทำนั้นยังไม่พอที่จะอยู่บนเวทีระดับลาสเวกัส”

ลินด์ซีย์เดินออกจากเวทีประกวดนั้นด้วยความสิ้นหวังและสุดแสนเจ็บปวด หลายคนบอกเธอว่าสิ่งที่เธอมีเธอทำนั้นมันขายไม่ได้ เธอต้องกลับไปใคร่ครวญว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในที่สุดเธอก็บอกกับตัวเองว่า เธอจะเป็นอย่างที่เธอเป็นต่อไป เธอเล่าให้ฟังว่า ภาพที่เห็นจากการแสดงของเธอนั้นกว่าจะได้มา คือการทำความเข้าใจอย่างละเอียดลึกซึ้งกับเพลงนั้นๆ ปรับเรียบเรียงให้สอดคล้องกับลีลาท่าทางฮิปฮอป ดนตรีนั้นต้องเรียบเรียงร่วมสมัยด้วยไม่ว่าต้นฉบับจะเป็นคลาสสิกโบราณแค่ไหน

หลังจากผิดหวังกับอเมริกา ก็อต ทาเลนต์ ไม่นาน เดวิน เกรแฮม (Davin Graham) เพื่อนเคยเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกันกับเธอได้ก้าวเข้ามาทั้งเป็นคู่เดทและคู่คิดทางธุรกิจ เดวินเรียนทางด้านการผลิตภาพยนตร์ แต่ขณะที่เรียนได้ไปเห็นคลิปในยูทูปคลิปหนึ่งที่มีคนดูเป็นล้าน คลิปนั้นถ่ายทำด้วยโทรศัพท์มือถือธรรมดา เดวินเลยตัดสินใจเลิกเรียนเพื่อปริญญา ออกไปทำคลิปเชิงสารคดีเน้นกีฬาผาดโผนตัวเองแสดงเองด้วย วันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุจากความพยายามผาดโผนด้วยกระดานโต้หิมะ (Snow Board) เกิดอาการบาดเจ็บค่อนข้างรุนแรง เดวินต้องตัดสินใจเป็นคนอยู่หลังกล้อง เขามีแชนแนลยูทูปของเขาตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 ชื่อ Davinsportamp มีสมาชิกกว่าสี่ล้านคน และมีผู้ติดตามเปิดดูมากกว่า 900 ล้านครั้ง เขาชวนลีนด์ซีย์ทำคลิปวิดีโอโปรเมทผลงานลงยูทูป ให้อิสระกับลินด์ซีย์ทั้งแต่งเพลง คิดท่าเต้น ทำสคริปต์ และแสดงเองด้วย หลังร่วมงานกันได้ไม่ครบปี ก็ออกผลงานเพลงของลินด์ซีย์ “Spontaneous Me” สร้างชื่อเสียงแก่ลินด์ซีย์อย่างรวดเร็ว ทำให้ลินด์ซีย์กลับไปออกผลงานเพลงในแซนแนลเดิมของเธอ “Lindseystomp” ที่เธอทำไว้เองตั้งแต่ปี 2007 แชนเนลนี้ได้รับความนิยมพุ่งสูงย่างรวดเร็ว ยอดผู้เข้าขมถึงปี 2011 ขึ้นสูงไปถึง 1.5 พันล้าน แชนแนลที่มีผู้ชมและสมาชิกมากมายถล่มทลายขนาดนี้ทำให้รายได้จากการโฆษณาไหลเข้ามาอย่างช่วยไม่ได้ นิตยสาร Forbes รายงานผลสำรวจเมื่อปี 2015 ว่าลินด์ซีย์เธอเป็นผู้มีรายได้จากค่าโฆษณาในยูทูปมากเป็นอันดับ 4 ด้วยการรับทรัพย์ 216 ล้านบาท

จากนั้นงานก็เข้าทั้งออกวิดีโอกวาดรางวัลจากหลายสถาบัน ออกทัวร์คอนเสิร์ตทั้งทั่วอเมริกาและยุโรป ความสำเร็จของเธอห้ามไม่ได้ที่จะต้องไปกระทบสายตากรรมการ America Got Talent ที่ช่วยกันปฏิเสธการปรากฎตัวบนเวทีของเธอ

คนแรกก็คือ ปิแอร์ มอร์แกน คนที่กดสวิตช์ไม่ยอมให้เธอแสดงจนจบ (แต่เธอฝืนแสดงต่อ) เขาออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการผ่านแชนแนลทางยูทูปว่า “ยินดีด้วย คุณทำได้แล้ว คุณพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่ผมเคยพูดนั้นผิด”

ลินด์ซีย์ไม่ได้ตอบรับหรือโต้ตอบคำสารภาพของกรรมการคนนั้น แต่เธออธิบายแนวคิดของเธอผ่านหนังสือชีวประวัติของเธอที่เธอตั้งชื่อว่า แค่โจรสลัดเท่านั้นที่งานปาร์ตี้ (The Only Pirate at the Party) ที่เธออธิบายเหตุผลที่มาของชื่อหนังสือนี้ว่า ถ้าเธอถูกรักษาบำบัดด้วยการต้องมีผ้าแปะปิดตาไว้ เธอก็จะรู้สึกอึดอัดกับการรักษานั้น จนเมื่อเธอต้องทำตัวให้เหมือนโจรสลัด เพราะว่า โจรสลัดนั้นไม่ขอฟังคำสั่งหรือร้องขอคำอนุญาต เขาทำในสิ่งที่เขาต้องการทำเท่านั้น ถ้าบอกไปว่าความฝันของคุณมันสูงกว่านั้น ใครจะบอกว่ามันไม่มียืนให้หรอกสำหรับการแสดงทั้งเต้นและสีไวโอลินไปพร้อมกัน ที่คุณต้องทำคือเปิดผ้าแปะปิดตาออกไป แล้วโลดแล่นสู่ทะเลที่กว้างใหญ่ไปเลย

คลิปแนะนำสำหรับ Lindsey Stirling

Lindsey Stirling และ My Story : สองคลิปนี้มีความยาวรวมกันสิบกว่านาทีแนะนำว่าต้องดูเพื่อรู้จักตัวตน ความเป็นมาของเธอคนนี้แบบสรุปย่อ บอกเล่าชีวิตในวัยเด็กที่ค่อนข้างมีข้อจำกัดของเธอ เฉลยถึงกุญแจที่พาไปสู่ความสำเร็จการฟังจากกปากกาของเธอเอง ดูแล้วอยากให้เด็กวัยรุ่นที่กำลังอยู่ในช่วงแสวงหาหนทางก้าวเดินได้ดูกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มักพูดเก๋ๆ ว่า อยากเดินไปให้ถึงจุดฝันอะไรทำนองนั้น ลินด์ลีย์เธอบอกและพิสูจน์ว่า ความฝันแต่ละคนนั้นไม่ใช่ไปถึงกันง่ายๆ เธอพูดอะไรดูมีปัญญากว่าดารานักแสดงทั้งวัยเดียวกันและสูงกว่าในบางประเทศมาก ลองไปชมกันครับ

https://www.youtube.com/watch?v=BEHhz8SgV7E

Lindsey Stirling Tribute : คลิปนี้ความยาวประมาณสิบกว่านาที เล่าถึงความเป็นมาของเธอตั้งแต่วัยเด็กนิดหน่อย แล้วจึงไปเน้นที่มาที่ไปของอัลบั้มเพลงเดี่ยวที่โด่งดังของเธอทำให้รู้จักและเป็นเหมือนแผนที่เปิดทางไปเลือกชมวิดีโอดีๆ ของเธอต่อไป อย่างเช่น Crystallize ที่วันแรกเมื่อปรากฎลงยูทูปเมื่อปี 2012 มีคนเปิดเข้าชมทันที 1,000,000 ครั้ง

https://www.youtube.com/watch?v=OXIaIMrghV0

Spontaneous Me, River Flows in You, Crystallize, Shadows, Roundtable Rival, Master of Tides : ทั้งหกคลิปนี้ลองเลือกชมวันละสองสามคลิป หรือจะเลือกชมรวดเดียวทั้งหมดก็ไม่ว่ากัน แต่ละคลิปมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป เป็นคลิปเพลงเด่นๆ จากหลายอัลบั้มของเธอ ถ้ามีเวลาลองค้นหาคลิป “Behind the Scene” มาดูกัน ได้อรรถรสในการดูมืออาชีพเขาทำงานสนุกดีครับ

Spontaneous Me : https://www.youtube.com/watch?v=6HP9K58y1h0

River Flows in You : https://www.youtube.com/watch?v=lrF814OnFQ4

Crystallize : https://www.youtube.com/watch?v=nnowHuklKH8

Shadows : https://www.youtube.com/watch?v=JGCsyshUU-A

Roundtable Rival : https://www.youtube.com/watch?v=jvipPYFebWc

Master of Tides : https://www.youtube.com/watch?v=RrutzRWXkKs

Hallelujah : ผมแยกคลิปนี้มาแนะนำเดี่ยวๆก็เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นความพิเศษน่าสนใจ ประการแรกนี้คือ เพลงจากผลงานจากศิลปินชาวแคนเนเดียน ลีโอ นาร์ค โคเฮน (ถ้าออกสำเนียงฝรั่งเศสน่าจะออกว่า โคฮัง) ที่มีคนนิยมเอาไปร้องในการประกวดมากที่สุดในเวทีประกวดหลายแห่งทั่วโลก จากต้นฉบับที่ช้าๆ เนิบๆ ต้องการสรรเสริญพระเจ้าอย่างสงบเสงี่ยมมีคนเอาไปร้องในลีลาโซล, บลูฯ ได้น่าฟัง ลินด์ซีย์เธอนำมาเรียบเรียงบรรเลงที่ฟังออกถึงความคารวะที่เธอมีต่อศิลปินผู้ประพันธ์ และต่อพระผู้เป็นเจ้า  เธอเล่าถึงกำลังใจที่เธอเชื่อว่า พระเจ้าเท่านั้นที่มองเห็นความสวยงามในตัวตนของทุกคน ความมุ่งมั่นเชื่อมั่นในพระเจ้าจนถ่ายลงมาเป็นสิ่งที่มีในตัวตนของคนย่อมพาไปสู่ความสำเร็จ ที่เธอไม่ได้พูดทั้งหมดนะครับ ผมมาขยายเองและอยากให้ลองไปเรียกชมกัน

https://www.youtube.com/watch?v=5VzprYCxPBQ

 

ขอขอบคุณ

เนื้อหาโดย : ประพันธ์ ฟักเทศ

ที่มา : นิตยสาร What Hi-Fi

ข่าวสารและกิจกรรมอื่นๆ